วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรียน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ต้องรู้อะไรบ้าง

เรียน วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ต้องรู้อะไรบ้าง

วิศวะคอม
เค้าเรียนไฟฟ้า ฟิสิกส์ และวิชาประยุกต์ อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยนะครับ
แล้วเวลาเค้าสอน ไม่ใช่ว่าเค้าจะคอยนะ
เค้าจะสอนไวมากๆ ประมาณว่าให้ไปอ่านเอง ในส่วนที่ไม่ทัน

คนเรียนสายวิทย์มา ยังมึนๆ เลย
คนไม่ได้เรียน คงรอดยากอ่ะครับ
เข้ามาเรียนได้ ก็ต้องพยายามมากกว่าคนอื่น 3-4 เท่า
*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*/*
เรียนวิศวฯคอมฯ ควรจะรู้อะไรบ้าง นอกจากที่สอนในมหา'ลัย ?
โดย อาจารย์ วิรุฬห์ ศรีบริรักษ์ - Friday, 18 April 2008, 09:35PM
ขึ้นหัวข้ออย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าหลักสูตรที่ใช้อยู่ไม่ดีนะครับ อันที่จริงการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีในสาขาคอมพิวเตอร์ไม่ว่าในเมืองไทย หรือต่างประเทศใช้หลักสูตรใกล้เคียงกันคือมุ่งเน้นไปที่ทฤษฎีมากกว่าการเอา ไปใช้งานและ Applications มีหลายคนถามผมว่าทำไมวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไม่มีสอน Word, Excel, Powerpoint, หรือ AutoCAD ? มีต่อท้ายด้วยว่าถ้าปริญญาตรีวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ไม่มีสอนพวกนี้แล้วเด็กที่ จบจะใช้เป็นเหรอ ? บริษัทเค้าจะจ้างวิศวกรคอมฯ ไปทำอะไรถ้าใช้โปรแกรมไม่เป็น ? ฟังแล้วอึ้งไปชั่วขณะ แสดงว่าเค้าไม่เข้าใจว่าเราเรียนอะไรนะสิครับ แต่ถ้ามองอีกแง่นึงก็หมายความว่าตลาดงานมุ่งหวังให้คนที่เรียนคอมพิวเตอร์จบ ตั้งปริญญาตรี มันต้องเป็นงานแบบนี้ เชี่ยวชาญงานแบบนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดถ้าเจ้าของกิจการเค้าจะคิดอย่างนั้นเพราะมันก็ควรจะเป็นอย่าง ที่เค้าหวังนะครับ แต่ที่ไม่มีในหลักสูตรเพราะว่าการเรียนรู้ applications ต่างๆ มันเป็นสิ่งที่นักศึกษาวิศวฯคอมฯ ต้องเรียนรู้เอง ก่อนที่จะจบออกไป อย่างน้อยก็ให้มีพื้นฐานที่ทำให้เรียนรู้ application ใหม่ๆ ได้เร็วกว่าคนอื่น ถึงแม้ว่าตอนที่เข้ามาจะไม่รู้อะไรเลยและไม่มีวิชาในหลักสูตรสอนก็ตาม ไม่มีมหา'ลัยไหนสอนหรอกครับ ก็มันไม่ใช่ทฤษฎีนี่ครับ คำถามที่ตามมาก็คือ "วิศวกรคอมพิวเตอร์ควรจะรู้อะไรบ้าง หรือทำอะไรเป็นบ้าง ที่อยู่นอกเหนือหลักสูตร ?" อืม..ม ตอบยากเหมือนกัน ผมลองคิดดูจากประสบการณ์และสอบถามเพื่อนๆ ก็ได้ออกมาเป็นหลายหัวข้อ ลองมาดูนะครับว่าตัวของเรายังขาด (หรือเกิน) ในส่วนไหนบ้าง ?


--------------------------------------------------------------------------------

ประกอบ เครื่อง PC เป็น ? .. ข้อแรกก็น่าตกใจซะแล้ว จริงๆ นะครับ จบวิศวฯคอมฯ ประกอบ PC ไม่ได้อายเค้านะครับ อย่าไปเถียงเค้าว่าที่โรงเรียนไม่ได้สอนหรือว่ามันเป็นงานของช่างอะไรทำนอง นี้นะ การประกอบเครื่อง PC ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นโดยเฉพาะกับคนที่เรียนทางด้านคอมพิวเตอร์มา เปิดเครื่องตัวเองดูสิครับ ลองไล่สายแต่ละสายดูว่ามันต่อกันอย่างไร แล้วก็นึกเทียบดูกับที่เรียนในส่วนของทฤษฎี ด้วย PC ที่เรามีอยู่เราสามารถเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมได้มากมายเพียงแค่เปิดฝาเครื่อง ออกมาเท่านั้นเอง อย่างแรกคือเราเข้าใจในระบบ PC มากขึ้น มองเห็นภาพที่ชัดเจนว่า อ้อ..ไอ้นี่ Drive C, อันนี้ CD-ROM.. ตัวนี้ CPU, ตัวนี้ Sound card, ตัวนี้ Display card .. ตัวนี้ Modem .. ประกอบ PC ได้นี้ได้เรียนรู้เหมือนเรียนหมอต้องผ่าศพอะไรทำนองนั้นเชียว การประกอบแล้วเครื่องทำงานได้ (เน้นว่าต้องทำงานได้นะครับ..ประกอบไปแล้วทำงานไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์นะสิ) แปลว่าต้องรู้จักวิธีการ configuration ตั้งค่าต่างๆ เช่น IRQ, DMA, set jumper ถูก (overclock ซะเลย..ว่ะฮ่ะๆๆๆ) ตั้ง BIOS ถูก แม้ว่าวันนี้อุปกรณ์หลายอันเป็น Plug-and-Play แต่ถ้ามันไม่ play ขึ้นมาละก็..เปลี่ยนเป็น pray จุดธูปสวดมนต์ให้มันได้ก็แล้วกัน .. ไม่ใช่ๆ เป็นวิศวกรต้องทำให้มัน Play ให้ได้นะครับ .. การประกอบเครื่อง PC เป็นการฝึกทักษะทางด้าน hardware อย่างนึงที่ทุกคนควรจะทำเป็น แนะนำนิดนึงนะครับว่าอย่าใช้วิธีการจำว่ามันต่อกันยังไง จำเอาไม่มีประโยชน์ พยายามทำความเข้าใจชิ้นส่วนและหน้าที่ของมัน จากนั้นก็นำแต่ละชิ้นส่วนมาประกอบกัน ไม่ต้องกลัวว่าจะต่อผิดอุปกรณ์หลายๆ ชิ้นออกแบบมาไม่ให้ต่อผิดอยู่แล้ว ลองทำดู ให้เพื่อนที่ทำเป็นให้เค้าสอนก็ได้ .. ทีนี้ก็ไม่ต้องปฏิเสธใครอย่างอายๆ ว่า "ประกอบเครื่องไม่เป็น..แหะๆๆ" แต่กลายเป็นพูดว่า "ของหมูๆ .. ถึงที่มหา'ลัยไม่สอนก็ทำเป็น" ..ดูดีกว่าตั้งแยะ


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่สองคือเรื่องภาษาคอมพิวเตอร์ ..ไม่ถึงกับต้องพูดได้นะครับ..พูดภาษา C แทนภาษาไทยนี่ประหลาดเกินคนนะครับ เอาแค่เขียนกับอ่านก็พอ ภาษาทุกวันนี้พอจะแบ่งได้สามแบบคือภาษาแบบ Procedural, Object-Oriented, และ Functional Procedural ก็คือพวก C, Pascal ทำนองนี้นะครับ Object-Oriented ได้แก่ C++, Object-Pascal, Smalltalk อืม..สองอันนี้มีในหลักสูตรไม่มีปัญหา(เท่าไหร่) ส่วน functional language อันนี้สิไม่ค่อยมีนักศึกษาป.ตรีรู้จักเพราะใช้งานไม่มากอย่าง ML, LISP, ADA ส่วนใหญ่ใช้ทำงานวิจัยมากกว่าเขียนเป็น application ก็ไม่เป็นไรครับถ้ายังอยู่ในเมืองไทย(เมืองนอกเค้าจะสอนตอนปีสองครับ) ผมขอให้น้ำหนักไปที่การอ่าน code ภาษาออก ตีความและเข้าใจว่า code นั้นทำงานอย่างไรเป็นหลัก ส่วนการเขียนได้อันนี้มันต้องใช้เวลาฝึกพอสมควรขอให้น้ำหนักน้อยกว่า (ไม่ใช่ไม่สำคัญนะครับ..อย่าเข้าใจผิด เพราะยังไงก็ต้องเป็นซักภาษานึง) เพราะอะไรครับ? เพราะว่า การเขียนโปรแกรมมันไม่ได้อยู่ที่ตัวภาษาที่ใช้แต่อยู่ที่ logic การทำงานต่างหาก คนที่เขียนโปรแกรมเก่งไม่จำเป็นต้องรู้คำสั่งทั้งหมดในภาษานะครับ แต่เค้าจะเข้าใจว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร เขียนเป็น pseudo-code หรือ flowchart แล้วก็ implement ด้วยภาษาที่เหมาะสมทีหลัง ที่เน้นการอ่านเพราะว่า เวลาทำงานจะเจอ source code สารพัดภาษาเลย จะมาบ่นว่า "เค้าเขียนด้วย COBOL ค่ะ..หนูไม่ได้เรียนมา..หนูเก่งแต่ภาษา C ค่ะ (เพราะได้ C มาหลายตัวนะสิ)" แบบนี้ไม่ได้นะครับ ถึงจะไม่เชี่ยวชาญก็ควรจะทำความเข้าใจได้บางส่วน คำสั่งของภาษาแต่ละภาษาแม้ว่ามันจะไม่เหมือนกันแต่ว่า reserved word ของภาษาก็สื่อความหมายได้ไม่น้อยแล้วครับ โดยเฉพาะภาษาในกลุ่มเดียวกันยิ่งง่าย ลองนึกดูสิครับคำสั่ง If หรือ Print จะให้มันแปลว่าอะไร ? ภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูงทุกภาษาสร้างมาเพื่อให้คนเข้าใจ มันก็ควรจะทำให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ แม้ว่ามันจะเป็นคนละภาษา คนละ syntax จริงมั้ยครับ


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่สาม database และ system analysis..โอ้สบาย..มีในหลักสูตรอยู่แล้ว อันนี้ขอเน้นที่การปฏิบัตินะครับ ก่อนจะจบป.ตรีก็ควรจะออกแบบระบบและฐานข้อมูลรวมถึง implement ด้วยภาษาหรือโปรแกรม DBMS ซักตัวเป็น เอาระบบง่ายๆ ไม่ต้องซับซ้อน ใช้โปรแกรมอย่าง Access หรือ Visual Foxpro หรือจะเล่นวัตถุโบราณอย่าง dBase ก็ได้ครับ อันนี้สำคัญนะครับเพราะเป็นตัวที่ทำให้เห็นว่าวิศวกรคอมพิวเตอร์มีความสำคัญ ไม่น้อยในการดำเนินธุรกิจ ทางหากินนะเนี่ย ใครที่คล่องๆ นะครับหาเงินได้เป็นกอบเป็นกำเลยแหละ ทุกวันนี้คนที่เขียนโปรแกรมขายก็มีแต่ database ทั้งนั้นนี่ครับ เพื่อนผมที่เรียนอยู่ด้วยกันลงเรียนวิชา Database อาจารย์สั่งงานให้ implement บน Oracle ทั้งๆ ที่ไม่มีการสอนใช้ Oracle มาก่อน โยนงานกับ CD ติดตั้ง Oracle มาตูมเดียว แล้วก็บอกว่า 50% นะ..นักศึกษาก็มองหน้ากันเลิ่กลั่ก ..แต่หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนเขียน Oracle เป็นกันทั้งบาง (ก็มันตั้ง 50% นี่) การลงมือปฏิบัติอะไรก็ตามให้ผลดีกว่าการท่องหนังสือแน่ๆ ถึงจะอ่าน Access ซักสิบจบถ้าไม่เริ่มที่ menu File -> New ก็ไม่มีประโยชน์หรอก ใช่มั้ยครับ ตอนเรียนจะมี assignment อยู่แล้ว ถือโอกาสฝึกซะนะครับ ไม่ใช่ถือโอกาสโดดงานล่ะ หนังสือคู่มือมีเยอะแยะ หนังสือภาษาไทยก็มี สบายอยู่แล้ว


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่สี่ ยุคโลกาภิวัฒน์ มันก็ต้องเรื่อง Internet กับ Networking ..อ่า..ต้องทำอะไรเป็นล่ะครับ อย่าตกใจนะครับถ้าจะบอกว่าต้องออกแบบระบบอย่างง่ายได้ เข้าใจว่าต้องเอาอุปกรณ์อะไรมาต่อกับอะไร ต้องตั้งค่า IP ยังไง Gateway เป็นเท่าไหร่ ..เอาง่ายๆ ถ้ามีเครื่องคอมพิวเตอร์กับ modem อยู่บ้านก็ควรจะต่อ Internet ได้ เขียน homepage เป็น ไม่ได้ล้อเล่นนะครับ ควรจะเขียนเป็นจริงๆ (ง่ายจะตายไป) หลายบริษัทเค้าคาดหวังว่าเราทำได้นะครับ ระดับสูงขึ้นไปก็รวมไปถึงการติดตั้ง Network Operating System และ software ที่ใช้บน Network ด้วย..โอ้..ดูยากจังเลย ไม่จริงหรอกครับมันไม่ต่างจากติดตั้ง Windows 95 เท่าไหร่เลย แต่แน่นอนว่าจะต้องรู้จักตัวทฤษฎีซักเล็กน้อยก่อนว่า IP address คืออะไร อุปกรณ์แต่ละอย่างทำงานยังไง การทำงานของแต่ละ protocol เป็นอย่างไร Proxy, DNS คืออะไร ซึ่งก็มีเรียนอยู่ในหลักสูตรแล้ว เหลือแต่ว่าจะเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ในงานได้ยังไงเท่านั้นเอง ลองนึกภาพนะครับ เจ้านายเราเกิดไปอ่านหนังสือหรือได้ยินเรื่อง Internet จากใน TV แล้วอยากให้บริษัทมี Internet ใช้ เราก็ควรจะรู้ว่าเริ่มต้นอย่างไร เหมาะสมหรือไม่ที่จะใช้ ให้คำปรึกษาทางเทคนิคกับเจ้านายและคนในบริษัทได้บ้างในเรื่องทฤษฎีพื้นฐาน .. อย่าทำตัวเป็นใบ้เหมือนไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับฉันเชียวนะครับ ทำตัวไม่มีค่าเค้าปลดออกไม่รู้ด้วย เดี๋ยวนี้บริษัทเค้ามีทางเลือกเยอะนะจะบอกให้ เมื่อติดตั้งเครือข่ายก็ควรจะดูแลเป็น แก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ได้ อันนี้ไม่มีสอนในหลักสูตรครับ ถ้าสนใจก็ลองด้วยตัวเองในช่วงที่เรียนอยู่ดีที่สุด


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่ห้า Application..อย่างที่บอกไงครับ Word processor, Spreadsheet, และ Presentation software สามตัวหลักที่ต้องเป็น ไม่ต้องเก่งแต่ต้องเป็นนะครับ เดี๋ยวนี้ software พวกนี้ใช้ง่ายจะตาย เล่นวันเดียวก็เป็นหมดแล้ว ลองใช้ PowerPoint สิครับ จิ้มๆ พิมพ์ๆ ออกมาก็สวยแล้ว ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย เวลา Present เลิศจะตายไป ใครจะว่า over ก็ช่างเค้า (แสดงว่าทำไม่ได้อย่างเราละสิ..โฮ่ๆๆ) เตรียม PowerPoint บางทีเร็วกว่าทำแผ่นใสซะอีก สวยก็สวยกว่า โปรแกรม Word คงไม่ต้องพูดถึงนะครับ ทุกคนใช้เป็นอยู่แล้ว ส่วน Spreadsheet อย่าง Lotus หรือ Excel ก็ใช้ไม่ยาก เอาพื้นๆ ทำสมการได้ คำนวณข้อมูลได้ ทำ Graph ได้ก็พอแล้ว ทำเสร็จเอา graph ไปแปะใน Word สำหรับ report และใน PowerPoint สำหรับ present..บ๊ะ..สวยเหมือนกันนะเนี่ย อยากจะลองใช้ก็ง่ายนิดเดียวเอา CD ไปติดตั้ง double click setup.exe มันถามอะไรก็ใส่ให้ แล้วก็กด Next ๆๆๆๆ เท่านั้นเอง ลองหาโอกาสใช้นะครับ ทำ report หรือทำ project ก็เอามาลองใช้พิมพ์งานบ้าง เก็บข้อมูลบ้าง เตรียม present บ้าง เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ อย่าให้ได้ยินว่านักศึกษาวิศวฯคอมฯไปจ้างพิมพ์หน้าละสิบห้าบาทเพราะใช้ Word ไม่เป็นนะครับ เป็นลูกศิษย์ผมตัด F จริงๆ ด้วย โปรแกรมอื่นๆ ก็เหมือนกันนะครับหัดเล่นเยอะๆ จะได้หูตากว้างไกล เวลาต้องการใช้จริงๆ จะได้นึกออกว่าต้องใช้โปรแกรมไหน ถ้าหา software ที่ใกล้เคียงกับวิชาที่เรียนได้ยิ่งดี อย่างเรียน Electronics ก็ลองหาโปรแกรมวิเคราะห์วงจร หรือ simulate การทำงานมาเล่นดู สมัยเรียนผมใช้ Electronics Workbench กับ MathCAD ช่วยทำอะไรได้เยอะ ถ้าเห็นว่าไม่สนุกว่างๆ ก็เอาเกมส์มาเล่นก่อนก็ยังดี เครื่องคอมฯไม่ใช่ถูกๆ เอามาใช้ให้คุ้มครับ (แหะๆ) แต่อย่าเล่นจนลืมงานล่ะ เล่นคนเดียวเบื่อก็หันมาเล่นเกมส์บน LAN ถ้าหมดมุขก็เล่นผ่าน Internet สู้ไม่ได้ก็หาทางโกง..ฮ่าๆๆ ได้เรียนรู้ไปอีกแบบ จะโกงเกมส์ได้ต้องเข้าใจ data structure, การเก็บข้อมูลใน disk, save game เป็นยังไง ค่าอะไรเก็บตรงไหน แก้เงิน แก้พลังตรงไหน ในเกมส์มีเงินได้ 10 ล้านมันต้องเก็บกี่ bytes แก้ได้ก็สนุกกันใหญ่ ประเภทแก้ข้อมูลชาวบ้านก็มีประโยชน์นะครับ ดูสิครับ Windows 98 ภาษาอังกฤษตอนออกแรกๆ ก็มีคนทำให้เป็นไทยที่เรียกว่าเป็น Thai Enable version เกมส์ Final Fantasy ภาษาอังกฤษ ยังมีคนไทยแปลเป็นภาษาไทย แถมใจรักขนาดเขียนเป็นโปรแกรมเข้าไปแก้คำพูดตัวละครให้เป็นภาษาไทยทั้งหมด ไม่ได้ตังค์ซักกะบาทแต่ก็สนุกคนทำเค้าละครับ และที่สำคัญกว่าคือความรู้พวกนี้อาจจะได้ใช้ในการทำงาน เป็นพื้นฐานของการแก้ปัญหายากๆ อย่างเช่นการกู้ข้อมูลจาก harddisk ที่เสีย, โดน format, โดน virus ทำลาย, หรือลบโดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้ยากไปกว่าการแก้เกมส์เท่าไหร่เลย ถ้าเข้าใจโครงสร้างของ disk เราก็แก้มันได้เหมือนกัน หัดเล่นเดี๋ยวก็เป็นเอง (เกร็ดเล็กน้อย: การกู้ข้อมูลใน Harddisk ที่ media เสียมีค่าใช้จ่ายสูงมากครับ Harddisk SCSI 4 GB ถ้าจะกู้ข้อมูลทั้งหมดกลับมาต้องใช้เงินมากกว่า 1 ล้านบาท)


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่หก .. รู้จัก Y2K มั้ยครับ ? .. ทุกคนคงตอบได้ว่าคืออะไรนะครับ ทีนี้ถามต่อ "Y2K ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานไม่ได้จริงหรือไม่ ?" ..อืม เริ่มลังเลกับคำตอบ..จริงรึเปล่าหว่า เอาอีกคำถามนึง .. "Y2K ทำให้เครื่องซักผ้าตั้งเวลาไม่ทำงานจริงหรือไม่ ?" ..ไปกันใหญ่แล้วครับ ตัวอย่างที่ยกมานี่เป็นเรื่องจริงนะครับ ออกทีวีด้วย ทำนายกันเข้าไป อะไรที่มีนาฬิกาพี่แกว่าโดน Y2K ไว้ก่อน แสดงให้เห็นแล้วว่ายังมีคนอีกมากที่เข้าใจผิดในเรื่องเทคโนโลยี ซ้ำร้ายทำให้คนอื่นเข้าใจผิดไปด้วย คนที่เรียนคอมพิวเตอร์มายังลังเล..ฮ่าๆๆ ผมว่ามีเจ้านายของหลายๆ คนคงถามคำถามเรื่อง Y2K กับวิศวกรคอมพิวเตอร์เพราะเค้าหวังพึ่งเรานะครับ จะเห็นได้ว่าบทบาทนึงของวิศวกรคอมพิวเตอร์คือจะต้องเจอปัญหาทั้งมีสาระและ ไร้สาระจากผู้ร่วมงานที่ยังไม่เข้าใจคอมพิวเตอร์ คำตอบของเราอาจจะถือว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้องที่สุดและน่าเชื่อถือที่สุด สำหรับผู้อื่น (ก็เราเรียนมานี่ครับ) เราก็ควรจะรู้จักและทำความเข้าใจกับปัญหาที่แท้จริง ผลกระทบของปัญหากับงาน และวิธีแก้ไขถ้าจำเป็น ซึ่งก็หมายถึงการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเทคโนโลยีต่างๆ และพยายาม update ความรู้เสมอๆลองตั้งคำถาม Why และ How ดู แล้วลองหาคำตอบจากความรู้ที่เรียนมาว่าสมเหตุสมผลรึเปล่า จริงอย่างที่เค้าพูดหรือเปล่า ก็จะเริ่มเข้าใจในตัวเทคโนโลยีมากขึ้น ฝึกคิดเยอะๆ อ่านเยอะๆ ถ้าทดลองได้ก็ลองทำดู จะมองเห็นภาพและทิศทางว่าคอมพิวเตอร์กำลังพัฒนาไปในทางใด ปัญหาจริงๆ ของคนที่ตามเทคโนโลยีไม่ทันการพัฒนาที่รวดเร็วของคอมพิวเตอร์ ส่วนนึงอยู่ที่การปิดกั้นตัวเอง เจอตัวหนังสือเยอะๆ หน่อยก็ไม่อ่านซะแล้ว ตามไม่ทันก็เลิกตามซะเฉยๆ หรือพยายามแก้ปัญหาไม่ได้ก็เลิก ชีวิตจริงในการทำงานเราทำแบบนี้ไม่ได้นะครับ ฝึกไว้ตั้งแต่เรียนดีกว่า


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่เจ็ด..ภาษาอังกฤษ ใครว่าไม่จำเป็น ลองไปถามคนที่ทำงานทางคอมพิวเตอร์ดูนะครับว่ามีหนังสือภาษาไทยให้อ่านกี่ เล่ม? ตราบใดที่เมืองไทยยังผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อใช้ในประเทศไม่ได้ เราก็ยังต้องสั่งสินค้าจากเมืองนอกและก็ต้องเจอคู่มือภาษาอังกฤษแหงๆ ตอนผมเขียนบทความนี้ผมถามคำถามเดียวกับหัวเรื่อง เพื่อนผมตอบทันทีว่า "ภาษาอังกฤษ" ทฤษฎีคอมพิวเตอร์ถ้าแปลเป็นไทยหมดคงดูไม่จืดนะครับ เสียเวลาแปลกลับเป็นอังกฤษ สื่อสารกับคนอื่นก็ลำบาก มีอย่างที่ไหน เรียก Computer เป็นคณิตกรณ์, Windows 98 เป็นพหุบัญชรรุ่น 98, เรียก Hardware เป็น กระด้างภัณฑ์, software เป็นละมุลภัณฑ์ จะว่าไม่อนุรักษ์ภาษาไทยก็ยอมละครับ มันไม่ไหวจริงๆ (มีการเถียงกันบ่อยว่าทำไมไม่ใช้ภาษาไทย..เฮ้อ..ดูสิครับวิชา computer graphics เลยต้องเป็น "เรขภาพคอมพิวเตอร์" ยังดีที่ให้ใช้คำว่า"คอมพิวเตอร์") เวลาทำงานภาษาอังกฤษนอกจากจะไว้ใช้สื่อสารกับ boss (บางคนเค้ามีเจ้านายเป็นชาวต่างชาติ) ที่สำคัญอีกอันคือใช้อ่านพวก technical manual ให้รู้เรื่อง อันนี้มันก็โยงไปถึงสิ่งที่ควรรู้อีกอย่างคือมาตรฐานต่างๆ เพราะว่าใน technical manual เค้าถือว่าคนที่จะอ่านไม่ใช่ user แต่เป็นคนที่มีความรู้ทางเทคนิคแล้ว เข้าใจศัพท์ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์และมาตรฐานต่างๆ เป็นอย่างดี ดังนั้นศัพท์เทคนิคที่มีคำว่า ISO, TUV, UL, FCC, CSA, IEEE, ANSI ยิ่งรู้มากเท่าไหนยิ่งดีเป็นศรีแก่ตัว ไม่ต้องถึงกับเอามาท่องนะครับ เวลาเรียนมันจะเจออยู่ส่วนหนึ่ง แล้ว ใน manual ของอุปกรณ์ก็จะเจอ บนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ก็จะเจอ ก็ค่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คล่องครับ พยายามหาโอกาสศึกษา ลองดูบน power supply ของคอมพิวเตอร์สิครับ มีป้ายเหลืองๆ เขียนอะไรเต็มไปหมด มันมีความหมายทั้งนั้นนะครับ พลิก keyboard ก็น่าจะมีป้ายเขียน ลองสังเกตดูสิครับ


--------------------------------------------------------------------------------

อัน ที่แปด เยอะจังเลย .. ทั้งหมดที่พูดมาจะไม่มีประโยชน์หากเราเก็บไว้คนเดียว การเผื่อแผ่ความรู้ให้ผู้อื่น เพื่อนๆ น้องๆ หรือแม้แต่พี่ๆ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการค้นหาความรู้ด้วยตัวเอง คนเก่งคนเดียวพัฒนาประเทศไม่ได้หรอกครับ การแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความคิดที่เปิด กว้าง มีวิสัยทัศน์ที่ดี การวิจารณ์ด้วยเหตุผลเป็นการฝึกทั้งคนวิจารณ์และถูกวิจารณ์ให้พัฒนาตัวเองไป อย่างเหมาะสม ไม่ได้เป็นเรื่องที่ใช้ในการดูถูก การซักถามปัญหาไม่ใช่เรื่องน่าอายสำหรับคนที่ไม่รู้ ถ้าไม่ถามสิครับเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ (ปกปิดความไม่ฉลาดของตัวเองละสิ...ร้ายกาจนักนะครับ) โดยส่วนตัวผมชอบคนที่ซักถามเยอะๆ มากกว่าพยักหน้าเงียบๆ อย่างที่เคยพูดไว้หลายครั้งว่าไม่มีใครรู้ไปซะทุกอย่างหรอกครับ มันก็ต้องมีเรื่องที่ไม่รู้ ไม่ถนัดกันบ้าง ไม่แปลกหรอกครับ แต่อย่าไปคิดว่าฉันไม่ถนัดฉันก็จะไม่สนใจไม่รู้ก็ได้นะครับ อย่างนั้นมันเป็นการคิดผิดอย่างร้ายแรง มีนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่ค่อยกล้าถามอาจารย์ ไม่รู้เพราะอาจารย์สอนดีหรือว่านักศึกษาอายกันแน่ (กรณีของผมๆ เดาว่าเป็นอย่างหลัง..ฮ่าๆๆ) ไม่ต้องไปอายครับ ไม่รู้ก็ถาม ไม่แน่ใจก็ถาม หรือถ้าอายเพื่อน ก็มาถามทีหลังได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ถามในห้องเรียนเลย คนอื่นจะได้รู้และเข้าใจไปในทางเดียวกัน


--------------------------------------------------------------------------------

อย่า เพิ่งกังวลว่าทำไมมันมีอะไรต้องทำมากมายนักนะครับ ที่กล่าวมาเป็น guideline ซึ่งนำไปสู่คำๆ เดียวคือ "sense" ที่เป็นตัวทำให้เรามีความคิดอย่างเป็นระบบและสมเหตุสมผลในเรื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งพัฒนาได้จากสะสมประสบการณ์ (เหมือนเล่นเกมส์ RPG ต้องเก็บ EXP ให้ได้เยอะๆ จะได้ level สูงขึ้นไป) แต่ไม่ต้องรีบร้อนทำหรอกนะครับ ให้ฉวยโอกาสทำเมื่อโอกาสก็ได้อะไรเยอะแล้ว รับรองว่าทุกคนมีโอกาสฝึกฝนแน่ครับถ้าไม่มองข้ามไปซะก่อน แล้วก็อย่าไปซีเรียสมากเกินไปครับ จะทำอะไรก็ควรให้มันมีความสนุกไปด้วย ถ้าซีเรียสมากมันจะหมดสนุกนะครับ ตอนนี้เราเป็นนักศึกษา ความรู้ที่อาจารย์ให้ในห้องเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่ควรรู้ไม่ใช่ ทั้งหมด นอกจากนี้ก็ต้องยอมรับด้วยว่าการถ่ายทอดความรู้ในห้องเรียนมันไม่ได้ครบ 100% ดังนั้นเราก็ต้องศึกษากันเอาเองด้วย ผมเคยพูดถึงเรื่อง Expert system ใน AI มาครั้งนึงซึ่งมีหัวข้อที่แบ่งระดับความรู้เป็นสามส่วน ในห้องเรียนสามารถให้ได้ในส่วน deep knowledge, ในห้อง lab ให้ domain knowledge และที่เหลือคือ surface knowledge เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดที่ถ่ายทอดได้ยากที่สุด แม้ว่า surface knowledge จะมีพื้นฐานในหลักการต่างๆมาจากสองตัวแรกแต่การจะมี surface knowledge ที่ดีและถาวรมีเพียงเจ้าตัวเท่านั้นที่จะพัฒนาขึ้นได้จากการลงมือกระทำ การเรียนรู้จากการถ่ายทอดจากผู้อื่นจะได้ knowledge มาเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น และ surface knowledge นี่แหละที่เป็นตัววัดว่าใครเชี่ยวชาญกว่า ตัดสินใจดีกว่า ถูกต้องมากกว่า และเป็นความรู้ที่นำไปใช้ในชีวิตจริงได้ตลอดไป

1999

ตอบ

ตอบ: เรียนวิศวฯคอมฯ ควรจะรู้อะไรบ้าง นอกจากที่สอนในมหา'ลัย ?
โดย thitipong sornjan - Sunday, 10 August 2008, 07:47PM
สุดยอดอาจารย์พูดถูกจริงๆๆ เขาบอกว่าความรู้ไม่ได้มาจากการเรียนรู้ แต่มาจากการปฎิบติ ซึ่งใครมีความตั้งใจมากและสนุกกับมันก็จะได้อะไรที่มากขึ้นอยู่กับความ ตั้งใจ มิใช่แต่มาอ่านในกระดาษแล้วก็ตอบคำตอบ ตามที่เขาบอกๆๆว่าจริง คิดอย่างนี้แล้วถูกต้องนะคับทำข้อสอบได้ แต่ไม่เคยได้ลองทำ ทำแอ็คว่ากลูนี่โคตรเก่ง แล้วก็มักจะกักขัง จินตนาการของตนเอง ไอสไตน์ บอกว่าจินตนาการกว่า สำคัญความรู้ ก็น่าจะจริง รู้มาก รู้แต่ไม่เคยปฎิบัติได้ลองทำ ก็จะให้เราไม่สามารถแก้ไข ปัญหาองได้ สุดท้ายก็จะท้อใจไปเอง
แต่เพื่อนที่ตอบคำถามฉัน แลัวทำไมฉันต้องลองเล่นอะ เสียเวลา เอาเวลาไปดูดารา เล่นเกมดอทเอ จีบสาวดีกว่า ซึ่งมันก็ไม่ได้อะไรต่อเลย
แต่ หารู้ไม่คนอื่นที่เขาได้ทำค้นคว้าลองเล่นปฎิบ้ติด้วยตนเอง เขาได้รับอะไรมากกว่าที่คิด เราควรจะเริ่มฝึกและทำให้ได้เป็นทุกอย่าง ไม่จำเป็นจะต้องจำกัด ตัวเองฉันไม่ได้เรียนมา ฉันไม่ต้องทำ ทำให้สำเร็จ แล้วแล้วเราจะได้ไปเล่นอะไรที่สนุกๆๆ และท้าทายในเรื่องใหม่ๆๆ ต่อไป เวลาสำคัญมาก ไหลไปแต่เราต้องหาอะไร ลองเล่นแล้วเราจะเห็นภาพ ความรู้ที่เราเรียนมันเป็นประวัติที่เขาเขียนกันมานานปีละ บางทีการจะคิดอะไรเพียงเล็กน้อย จะไปติดเรื่องความรู้ต้องคิดลึกว่าต้องอย่างโน้นอย่างนี้แล้วก็งงอยู่กับ ความคิดตัวเอง จนบ้าไปละ ซึ่งคนไม่เคยมี ประสบการณ์ด้านกการปฎิบัติจะมองเห็นอะไรได้ยากมา เพราะจะเป็นคนที่คิดไม่เป็น จะกังวลไปหมดว่า ทำไม่ได้ แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องลองเล่นและบ้ากับมันจนได้เทคโนโลยีที่ใช้ได้ใน ปัจจุบัน หลายๆๆอย่างทีสำคัญ
จินตนาการ ก่อให้เกิด อะไรต่างๆๆ มากมาย
เรามาดูความคิดๆๆ ง่ายนะ เครื่องกำเนิด พลังงานแบบไม่ศูนย์เสีย แบบฮากันดีกว่า
เครื่องชารจ์ พลังหนู
เอา หนูที่ซื้อที่ตลาด ที่ชอบวิ่ง ใน วงล้อ ใส่ generator เข้าไป ที่แกน ต่อ ไดโอด ทำเป็นเคเครื่องชาร์จถ่านได้ ต่อมายัง ถ่านที่จะชารจ์ แค่นี้ก็ได้ พลังงานใช้แล้ว ให้อาหารมันเยอะนะ แล้วก็ให้มันวิ่งการหลายตัวหน่อย
มา
ความฝันรถไฟฟ้าพลังงานหนู
เอา ท่อ พันขดลวดรอบท่อ แล้วเอาหนู ใส่เสื้อเกราะแม่เหล็ก แล้วปล่อยมันวิ่งไปตามท่อ ปล่อยมันที่ละหลายตัวดูซิ จะได้พลัง งาน ขนาดไหน เก็บชาร์จไว้ในแบตเตอรี่ เมื่อเต็มเอาพลังงานจากแบตเตอรี่ไปปั่น มอเตอร์ รถวิ่งไปซื้อกับข้าวที่ตลาด
กังหัน ลม พลังงานไม่สูญเสีย
ใช้พลังงานลม วัดน้ำขึ้นไปเก็บไว้มันบนถัง ที่บ้าน แล้วก็ปล่อยน้ำลงมาปั่น พลังงานไดนาโมไฟฟ้าต่อ ได้พลังงานใช้ละ
ไม่ต้องทำอะไรให้มากเลยใช่ไหม


ความเห็นก่อนหน้า ตอบ

ตอบ: เรียนวิศวฯคอมฯ ควรจะรู้อะไรบ้าง นอกจากที่สอนในมหา'ลัย ?
โดย ณัฐพล พรหมทะบุตร - Monday, 11 August 2008, 03:17AM
สิ่งที่ต้องรู้อีกอย่างก็คือ เวลาสั่งข้าวคะน้าหมูกรอบผัดน้ำมันหอยมา เราควรจะเลือกกินน้ำมันหอยก่อน

4 ความคิดเห็น: